Connect with us

อาชญากรรม

TPI ฟังเสียงชาวบ้าน

Published

on

มุกดาหาร ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่มีส่วนได้เสีย
มุกดาหาร – ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ มั่นใจ โครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมุกดาหาร ช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะอย่างครบวงจร จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รับนำข้อห่วงกังวลทั้งหมด ไปพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบอย่างเข้มงวด และมีชาวบ้านกังวลในเรื่องเสียง กลิ่น ปัญหาสุขภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตามมา
05 07 67 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมมุกดาหาร แกรนด์ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร นายไกร เอี่ยมจุฬา รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานในเวทีจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมุกดาหาร ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ชนะการประมูลในการดำเนินงานจากเทศบาลเมืองมุกดาหาร โดยได้รับฟังการกล่าวรายงานจากนางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ นายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร ว่าที่ผ่านมาสถานที่กำจัดขยะของเทศบาลเมืองมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ใกล้เต็มความสามารถในการรองรับขยะแล้ว ประกอบกับวิธีการกำจัดขยะแบบเทกองได้สร้างปัญหากลิ่นเหม็น น้ำเสีย และมลพิษอากาศเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวมุกดาหารมาเป็นเวลานาน ซึ่งปัญหาลักษณะนี้ก็ยังเกิดขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ในจังหวัดมุกดาหาร โดยเป็นปัญหาเรื้อรัง ยาวนาน ทางเทศบาลเมืองมุกดาหาร จึงได้ดำเนินการศึกษาหาแนวทางการจัดการขยะในจังหวัดมุกดาหารแบบอย่างครบวงจร เพื่อให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน และได้เปิดประมูลคัดเลือกบริษัทที่มาเป็นผู้ดำเนินการจัดการดังกล่าว
โดยในวันนี้ บริษัท ทีพีไอ โพลีนฯ ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) สำหรับนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาในขั้นตอนขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พร้อมทั้งแสดงความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาและการจัดการขยะโดยการนำมาเผาและนำความร้อนไปผลิตไฟฟ้าเป็นแนวทางการจัดการขยะที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้มีการดำเนินการแล้วทั้งต่างประเทศและในประเทศ แต่เพื่อให้เกิดผลสำเร็จมากยิ่งขึ้นควรเน้นในส่วนของการกำกับดูแลการประกอบกิจการ ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
การรับฟังความเห็นดังกล่าวเริ่มจากบริษัทที่ปรึกษา บริษัท ซีเอ็มเอส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้นำเสนอ รายละเอียดความเป็นมา ข้อมูลของโครงการ และมาตรการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากโครงการดังกล่าว จากนั้นก็เป็นการตอบข้อซักถามและรับฟังข้อเสนอแนะโดยมีผู้บริหารจากบริษัท ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมเวทีด้วย นำโดยนายวรวิทย์ เลิศบุษราคาม ตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายโรงงาน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายนราดล ตันจารุพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายชนะภัย พุ่มกุมาร วิศวกรสิ่งแวดล้อม โดยในวันนี้กลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนในพื้นที่ตำบลมุกดาหาร และตำบลคำอาฮวน ที่อยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตร รอบพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย 13 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร 5 หมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลมุก และ 2 หมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลคำอาฮวน
ที่ประชุม ได้มีการสอบถามถึงผลกระทบของโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทั้งด้านน้ำเสีย ด้านการขนส่งขยะ ด้านการระบายน้ำ ตลอดจนความเหมาะสมของพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งทางบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ให้ความมั่นใจถึงมาตรการลดผลกระทบดังกล่าว ซึ่งจะมีหลายส่วนที่จะร่วมมือกับองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่ชุมชนเป็นห่วงกังวลด้วย
นายวรวิทย์ฯ ผู้บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีนฯ กล่าวว่า นอกจากการนำข้อเสนอแนะ และ ข้อห่วงกังวลทั้งหมดของประชาชนที่ได้รับในวันนี้ ไปพิจารณาประกอบการกำหนดมาตรการอย่างเข้มงวดแล้ว กระบวนการติดตามตรวจสอบก็จะต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใสด้วย ทั้งนี้ บริษัท ทีพีไอ โพลีนฯ เป็นหนึ่งในผู้นำในการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ทั้งในเรื่องจำนวนโรงงานกำจัดขยะและปริมาณขยะ ที่นำมาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า บริษัทจึงมีความเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะช่วยลดปัญหาการจัดการขยะ ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร และเป็นการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่โดยการเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (Waste to Energy) ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นปฎิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบ อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่โดยรอบด้วย อันเป็นนโยบายการประกอบกิจการอย่างยั่งยืน ของบริษัทฯ ตลอดมาอยู่แล้ว ..
ด้าน นายนราดล ตันจารุพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าว่า ในวันนี้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะมีการเริ่มโครงการ วันนี้จะเอาสิ่งที่ได้ไปศึกษาแล้วมานำเสนอว่า ในสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ไปศึกษามาจะมีมาตรการต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ได้มานำเสนอให้ทางผู้มีส่วนได้เสีย ที่อยู่ในรัศมี 3 กม. สิ่งที่เสนอเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสมก็สามารถเสนอให้ทางบริษทนำไปปรับปรุงเล่มรายงานให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากนั้นก็จะรวบรวมเล่มรายงานเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในขั้นตอนขออนุญาตต่างต่อไป
สำหรับพื้นที่รัศมี 3 กม. ประกอบด้วย เทศบาลเมืองมุกดาหาร เทศบาลตำบลมุก และเทศบาลตำบลคำอาฮวน การทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) มีขั้นตอนการสำรวจอยู่หลายด้าน ด้านสิ่งแวดล้อม มีการวัดเครื่องตามจุดต่าง ๆ ครอบคลุมที่ 3 ตำบล ในเรื่องสถานที่และตำแหน่งที่ตั้งต่าง ๆ และการจราจรต่าง ๆ ซึ่งวันนี้บริษัทที่ปรึกษาจะนำข้อมูลมานำเสนอ ส่วนบางพื้นที่ที่มีความเห็นส่วนใดที่ยังไม่ครบถ้วน อาจจะนำเสนอเพื่อเติม ในวันนี้จะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมได้
สำหรับโครงการนี้เทศบาลเมืองมุกดาหารเป็นเจ้าของโครงการ ผมเป็นผู้ประมูล ได้สัญญามาจากเทศบาลเมือง ถ้าเราจะจ่ายผลประโยชน์ต่าง ๆ เราต้องจ่ายเทศบาลเมือง ซึ่งเป็นเจ้าของสัญญา ทางเทศบาลเมืองต้องจัดสรรผลประโยชน์ที่ได้รับให้กับสมาชิกที่มาร่วมในโครงการนี้ โดยในปีนี้ทางโครงการขอทำเล่มรายงานประมาณเดือนกันยายน ในขั้นตอนก่อสร้างน่าจะเริ่มต้นปี 2568 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี จะเปิดดำเนินการประมาณปลายปี 2569 ..
นายไพรัตน์ แสงสีนิล รอง นายกเทศมนตรีตำบลมุก ( ตัวแทนชาวบ้าน ตำบลมุก ) เปิดเผยว่า โครงการนี้ทางเทศบาลตำบลมุกไม่เคยได้รับทราบมาก่อน จนมีการเซ็นต์สัญญา MOU แล้ว และติดป้ายประกาศแล้ว ทางตำบลมุกถึงทราบว่า มีโครงการนี้เกิดขึ้น ส่วนผลกำไรประมาณ 750 ล้าน ทางเทศบาลเมือง ได้รับล้วน ๆ ส่วนตำบลมุก ไม่ได้แม้แต่บาทเดียว รัศมี 3 กม. ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เทศบาลเมือง 50 % เทศบาลตำบลมุก 41 % เทศบาลตำบลคำอาฮวน 3 % สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ชาวบ้านตำบลมุกไม่รู้เรื่องเลย ทั้งที่บ่อขยะอยู่ติดชายแดน เพื่อให้ประชาชนในตำบลมุกได้รับผลประโยชน์เท่ากันกับเทศบาลเมือง ส่วนผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน และสิทธิประโยชน์ต้องเท่าเทียมกัน ถ้าโครงการนี้เกิดมีปัญหากับชาวบ้านแน่นอน ..
สำหรับโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ของเทศบาลเมืองมุกดาหาร กำลังการผลิตติดตั้ง 9.900 เมกะวัตต์ หรือ 9,900. กิโลวัตต์-แอมแปร์ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิต 78.408 จิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี งบประมาณ 1,803 ล้านบาท ใช้วิธีการเผาขยะมูลฝอยในเตาเผาแบบตะกรับที่อุณหภูมิ 900-1,050 องศาเซลเซียส และนำความร้อนที่ได้จากการเผาขยะมูลฝอยไปผลิตไอน้ำแรงดันสูง จากนั้นนำไอน้ำที่ผลิตได้ไปหมุนกังหันไอน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ปริมาณขยะมูลฝอยที่จำกัดได้ประมาณ 560 ตัน/วัน
ทั้งนี้จังหวัดมุกดาหารมีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยมากกว่า 388 ตัน / วัน ปัจจุบันระบบกำกัดขยะมูลฝอยชุมชนของจังหวัดมุกดาหาร ยังไม่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ และบางส่วนยังมีการฝังกลบ หรือกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมากมาย เทศบาลเมืองมุกดาหารได้ตระหนัก และเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นในเทศบาลเมืองมุกดาหาร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยพลังงานไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ โดยภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตไฟฟ้า ….
***
อนุศักดิ์ – เสาวภา แสนวิเศษ // มุกดาหาร 081-5449094


Continue Reading
Click to comment

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Copyright © todaynews2017.com