นนทบุรี ครูอัตราจ้างสอนเด็กพิการร้องมูลนิธิฯดัง วอนสพฐ.ทบทวนคำสั่งเปลี่ยนการจัดซื้อจัดจ้าง หลังครูอัตราจ้างกว่า 23,000 คน ทั่วประเทศ เดือดร้อนหนัก
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 30 ก.ย. 67 ที่มูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคมถนนแจ้งวัฒนะ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายนราวิชญ์ ดีหมื่นไวย อายุ 44 ปี คุณครูพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม โรงเรียนแห่งหนึ่ง นำเอกสารหลักฐานเข้าร้องเรียนกับนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานมูลนิธิฯ ,ว่าที่ร้อยตรีรภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิฯ เพื่อขอให้ช่วยเหลือหลังจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีการประกาศปรับเปลี่ยนวิธีการจัดจ้างครูอัตราจ้าง เป็นการจ้างเหมาบริการ ในปีงบประมาณ 2568 โดยตัดสิทธิเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และวันลาต่างๆ ทำให้ตนเองและคุณครูกว่า 23,000 คน ทั่วประเทศ ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จึงต้องเดินทางมาร้องเรียนกับมูลนิธิฯเพื่อขอให้ช่วยเหลือ
นายนราวิชญ์ คุณครูพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม โรงเรียนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ตนเป็น 1 ในคุณครูอัตราจ้างกว่า 23,000 คน ทั่วประเทศ ที่ได้รับความเดือนร้อนหลังจากสพฐ.ประกาศปรับเปลี่ยนวิธีการจัดจ้างครูอัตราจ้าง เป็นการจ้างเหมาบริการ ในปีงบประมาณ 2568 โดยตัดสิทธิเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และวันลาต่างๆ ซึ่งมีคุณครูที่ได้รับความเดือนร้อน คือ ครูวิกฤต, ครูสาขาขาดแคลน, เจ้าหน้าที่ธุรการ, Lab boy วิทยาศาสตร์, ครูประจำหอพักนอน, ครูส่งเสริมเด็กพิการเรียนร่วม, ครูสอนศาสนาอิสลาม และ นักการภารโรง ซึ่งพวกตนเป็นคน ไม่ใช่กระดาษ การจัดซื้อจัดจ้างแบบกระดาษใช้แล้วทิ้งมันไม่ได้ การตัดสิทธิกองทุนประกันสังคม จาก ม.33 เป็น ม.39 และวันลาต่างๆ มันจะมีผลในเรื่องของเงินเดือน จากที่ลาได้ก็ไม่มีสิทธิลา หากลาก็จะถูกหักเงินเดือน รวมถึงเงินสมทบที่จะได้รับวัยเกษียณ และที่สำคัญคือไม่รู้ว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ พวกตนเป็นลูกจ้างของรัฐ แต่ทำไมถึงถูกตัดสิทธิแบบนี้ ทั้งที่การจัดซื้อจัดจ้างแบบอัตราจ้าง มีมาตั้งแต่ปี 2552 (15 ปี) และครูอัตราจ้างหลังทำงานครบ 3 ปี มีใบประกอบวิชาชีพ จะได้รับสิทธิการสอบบรรจุครูกรณีพิเศษ (คำนวณประสบการณ์การทำงาน) เพื่อสอบบรรจุครูได้ ทำให้พวกตนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก อยากได้รับคำตอบว่าเพราะอะไร ตนเป็นครูรากหญ้าดูแลเด็กที่เป็นเหมือนลูกหลานในชุมชน ตนรู้สึกดีที่ได้เห็นทุกคนเติบโต เห็นเด็กพิการ เด็กออทิสติก เดิน วิ่ง ช่วยเหลือตัวเองได้ตนก็ภูมิใจ อยากจะขอความกรุณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือพวกตนด้วย
นายนราวิชญ์ คุณครูพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม โรงเรียนแห่งหนึ่ง กล่าวต่ออีกว่า ตนไม่รู้ว่าเมื่อมีประกาศฉบับนี้ออกมาแล้ววันพรุ่งนี้ของตนจะเป็นอย่างไร จะมีความมุ่งมั่นในการทำงานหรือไม่ พวกตนพยายามอบรมสั่งสอน พัฒนาเด็กพิการเพื่อทำผลงานแข่งระดับประเทศ รู้สึกน้อยใจที่เห็นประกาศฉบับนี้ อยากให้ทางมูลนิธิฯช่วยประสาน เพื่อหาทางออกให้กับเรื่องนี้ ที่ตนทุ่มเททำงานมากว่า 14-15 ปี นี่คือสิ่งที่ควรได้รับหรือไม่ ซึ่งประกาศฉบับนี้ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 67 และมีเวลาให้พวกตนตัดสินใจก่อนหมดปีงบประมาณ 2567 เพียง 7 วัน (วันที่ 30 ก.ย.) และวันพรุ่งนี้ต้องเซ็นสัญญาใหม่ในปีงบประมาณ 2568
ทนายรณณรงค์ กล่าวว่า อย่างแรกต้องดูประกาศก่อนว่าเป็นการใช้คำสั่งทางปกครองอย่างไรบ้าง และกระทบกับครูอัตราจ้างอย่างไร มีวิธีการช่วยเหลืออย่างไร ตนเข้าใจว่ารัฐบาลมีงบประมาณจำกัดแต่อยากให้ได้มีการพูดคุยและอธิบายถึงสาเหตุ ตนเชื่อว่าครูอัตราจ้างอีกเยอะที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ มูลนิธิฯเป็น 1 ในกระบอกเสียงส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราจะนัดหมายเพื่อให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยเข้าไปขอพูดคุยความเดือดร้อน ครูอัตราจ้างไม่ได้มีศักดิ์ศรีแพ้ใคร เก่งทุกคน แต่สวัสดิการของครูทำอะไรได้บ้างมั้ย ปัจจุบันเรามีรัฐบาลชุดใหม่คาดหวังจะแก้ปัญหาและหาทางออกร่วมกันได้ ซึ่งประกาศฉบับนี้กระทบขวัญและกำลังใจของผู้ใต้บังคับบัญชา อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเชื่อมั่นและความหวังกับคนทำงาน บางคนควบหลายตำแหน่งในพื้นที่ห่างไกล เราควรจะทำยังไงให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีส่งต่อไปยังเด็กนักเรียน ซึ่งหลังจากนี้จะมีคุณครูอัตราจ้างรวมพลกันกว่า 1,000 คน เข้าไปหาคำตอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ภาพ/ข่าว ฉัตรมงคล สิงห์โต
ผู้สื่อข่าว จ.นนทบุรี